รุ่นที่ 1 (พ.ศ. 2543-2549) ของ นิสสัน_ซิลฟี่

นิสสัน บลูเบิร์ด ซิลฟี รุ่นที่ 1

นิสสัน บลูเบิร์ด ซิลฟี รุ่นที่ 1 ผลิตครั้งแรกในปี พ.ศ. 2543 ใช้รหัสคือ G10 มีเครื่องยนต์ให้เลือก 4 แบบ มีเครื่องยนต์ 1.5 1.6 1.8 และ 2.0 ลิตร มีชื่อในการส่งออกคือ นิสสัน พัลซาร์ (ประเทศออสเตรเลีย) นิสสัน ซันนี่ (ประเทศไทย, สิงคโปร์, ฮ่องกง และในแถบตะวันออกกลาง) นิสสัน เซนทรา (ประเทศไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) นิสสัน อัลเมรา (ประเทศบรูไน)

มีการไมเนอร์เชนจ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยปรับกระจังหน้าให้คล้ายนิสสัน เทียน่า และเลิกผลิตในปี พ.ศ. 2549

โฉมนี้ เคยนำมาขายในไทยอย่างเป็นทางการ โดยเป็นที่รู้จักของคนไทยในชื่อ นิสสัน ซันนี่ นีโอ ช่วงปี พ.ศ. 2543-2549 เป็นตลาดที่ 2 ต่อจากญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2543 และถูกนำไปดัดแปลงเป็น Almera Sedan สำหรับตลาดยุโรป Pulsar Sedan ในออสเตรเลีย และ Sunny Almera ในประเทศไทย เปิดตัวเมื่อปี พ.ศ. 2545 ใช้เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร แต่มียอดขายไปได้เรื่อยๆ ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากการเปิดตัว Toyota Corolla Altis สำหรับตลาดเอเชีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี พ.ศ. 2544 ในตลาดไต้หวัน และเปิดตัวในไทยในงาน Bangkok Motor Show 2001 เริ่มขายจริงเมื่อเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ทำให้ตลาดกลุ่มนี้มีการแข่งขันกันอย่างลุกเป็นไฟ และทำให้รถยนต์ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อที่อยู่ในตลาดช่วงนั้น รวมถึง Sunny Neo กลายเป็นรถยนต์ที่เชย และล้าสมัยไปเพียงชั่วข้ามคืน มียอดขายพอประคองตัวให้อยู่รอดได้เท่านั้น และยังทำให้ยอดขายของนิสสันในไทยในช่วงนั้นเริ่มถดถอย เนื่องจากบริษัทแม่ต้องการเข้ามาทำตลาดเอง แต่สยามกลการ ในฐานะผู้ถือสิทธิ์การผลิต นำเข้าและจำหน่ายนิสสันไม่ยอม ทำให้บริษัทแม่ตัดการช่วยเหลือ และสนับสนุนรถรุ่นใหม่ๆ มาทำตลาด ทั้ง X-Trail รุ่นแรกและ Navara สูญเสียโอกาสในการทำตลาดช้าไปหลายปี ในที่สุด หลังจากเจ้าสัวถาวร พรประภาถึงแก่อนิจกรรมไปได้พักใหญ่ การเจรจากับทางญี่ปุ่นลงตัว นิสสันจึงเข้ามาเพิ่มทุนในสยามกลการ 7.6 พันล้านบาท พร้อมก่อตั้ง Siam Nissan Automobile ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น Nissan Motors Thailand ในปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน

โฉมนี้มีการผลิตเกียร์ 2 รูปแบบ คือ เกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด (โฉมนี้ยังไม่มีการผลิตเกียร์ CVT)